แม้ช่วงวันหยุดอีสเตอร์จะจำกัดความเคลื่อนไหวในตลาด แต่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังคงอ่อนตัวลงต่อเนื่อง เนื่องจากความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ท่ามกลางนโยบายการค้าและนโยบายการเมืองที่เข้มงวด ขณะที่ นักลงทุนเมินข่าวเชิงบวกจากรัสเซีย ตะวันออกกลาง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน โดยเลือกให้น้ำหนักกับผลกระทบเชิงลบจากสงครามการค้าของสหรัฐฯแทน แม้การประชุม IMF จะเริ่มต้นขึ้น พร้อมกับกระแสความหวังเกี่ยวกับความพยายามในการเจรจาสันติภาพกับรัสเซียที่สหรัฐฯหนุนหลัง และโอกาสในการหยุดยิงในอิสราเอล แต่นั่นก็ไม่อาจหยุดยั้งการร่วงลงของค่าเงินดอลลาร์ได้
ด้วยปัจจัยดังกล่าว ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ส่งผลให้สกุลเงินหลักและสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการพุ่งสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทองคำ คู่เงิน EURUSD คู่เงิน GBPUSD คู่เงิน NZDUSD และคู่เงิน AUDUSD ขณะที่ คู่เงิน USDJPY และคู่เงิน USDCAD ร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน ทางด้านราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง โดยตลาดคริปโทเคอร์เรนซีและหุ้นในจีนกับอินเดียปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ ตลาดหุ้นโตเกียวกลับปิดลบ
คู่เงิน EURUSD พุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2021 โดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐฯในวงกว้าง และความคาดหวังเชิงบวกต่อความเป็นไปได้เกี่ยวกับข้อตกลงการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ แม้ว่าตลาดจะเงียบเหงาในช่วงวันหยุดอีสเตอร์มันเดย์ (Easter Monday) และยังมีความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุโรปจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ ECB
ในทำนองเดียวกัน คู่เงิน GBPUSD แตะระดับสูงสุดในรอบ 6.5 เดือน จากแรงหนุนของดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่า ประกอบกับความหวังในการบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหรัฐฯ โดยที่ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของอังกฤษในขณะนี้ยังไม่ถูกให้ความสำคัญมากนัก
คู่เงิน USDJPY ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน หลังคณะนักการทูตญี่ปุ่นกลับจากวอชิงตันโดยไม่ได้ข้อสรุปหรือ “ข้อตกลงเร่งด่วน” ใดๆกับประธานาธิบดีทรัมป์ ความกังวลเรื่องภาษีและการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นอาจมีการปรับขึ้น ได้ช่วยหนุนค่าเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะในภาวะที่โลกเผชิญกับความตึงเครียดทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ ความน่าเชื่อถือในแนวทางการคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed ก็เริ่มถูกตั้งคำถาม ซึ่งยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อคู่เงิน USDJPY ด้วยเช่นกัน
ดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และดอลลาร์แคนาดา (Antipodeans) แข็งค่าขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน แม้จะมีแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจากธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และธนาคารกลางของแคนาดา (BoC) ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันจะเกิดการดึงกลับและมีความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-แคนาดา แต่คู่เงิน USDCAD ยังคงร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2024 ในขณะเดียวกัน คู่เงิน AUDUSD และคู่เงิน NZDUSD ก็ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ในปี 2025
ราคาทองคำพุ่งทำสถิติสูงสุดใหม่ใกล้ระดับ $3,385 โดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ ความต้องการที่แข็งแกร่งจากจีนและอินเดีย รวมถึงสถานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด โดยราคาทองคำมีแนวโน้มจะทะลุระดับ $3,400 ท่ามกลางความเชื่อมั่นที่เป็นผลบวกต่อช่วงแนวโน้มขาขึ้นของราคาทองคำ
ด้านราคาน้ำมันดิบ ได้แรงหนุนจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลง ประกอบกับความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน รวมถึงท่าทีของกลุ่มฮามาสที่แสดงแนวโน้มจะทำข้อตกลงหยุดยิงระยะยาวกับอิสราเอล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับความต้องการพลังงานที่ชะลอตัว จากแนวโน้มการปกป้องทางการค้า (Trade Protectionism) ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตจากกลุ่ม OPEC+ แม้ดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลงจะช่วยพยุงราคาอยู่บ้างก็ตาม
Bitcoin (BTCUSD) และ Ethereum (ETHUSD) ดีดตัวกลับจากการร่วงลงก่อนหน้า โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ และภาวะการซื้อขายที่คึกคักในช่วงวันหยุดอีสเตอร์ การทะลุแนวต้านทางเทคนิคประกอบกับความเชื่อมั่นที่ได้รับแรงกระตุ้นจากประธานาธิบดีทรัมป์ ยังช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของสกุลเงินดิจิทัล อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับบทบาทของทำเนียบขาวต่อสินทรัพย์ดิจิทัล การรายงานในหลากหลายทิศทางจากสำนักงาน ก.ล.ต. สหรัฐฯ (SEC) รวมถึงกระแสเงินทุนที่ไหลออกจากกองทุน ETF อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งยังถ่วงความเชื่อมั่นของผู้ซื้อทั้งสองคริปโตอยู่ในขณะนี้
เนื่องจากวันหยุดในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร คาดว่าตลาดการเงินทั่วโลกจะยังคงเงียบเหงาในวันจันทร์ อย่างไรก็ตาม การกลับมาของนักลงทุนสหรัฐฯ หลังช่วงวันหยุดยาว อาจทำให้ตลาดมีความเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการตอบสนองต่อข่าวภาษีการค้าของสหรัฐฯ และประเด็นทางการเมืองล่าสุด
ในขณะเดียวกัน ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอย่างเช่น ดัชนี PMI ประจำเดือนเมษายน รายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคและข้อมูลคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยที่นักลงทุนคอยติดตามตลอดสัปดาห์ที่มีการซื้อขายที่สั้นลงนี้
โดยรวมแล้ว คาดว่าดอลลาร์สหรัฐฯจะยังคงอ่อนค่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งอาจเปิดทางให้สกุลเงินหลักอื่นๆและสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากการฟื้นตัวก่อนหน้านี้
ขอให้คุณโชคดีในการเทรด!