ความเชื่อมั่นในตลาดยังคงไม่ฟื้นตัว สืบเนื่องมาจากความคิดเห็นที่มีแนวโน้มไปในทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกอบกับปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ รายงานภาวะความมั่นคงทางการเงินโลกฉบับล่าสุด (GFSR) จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังส่งผลกระทบต่อสภาวะความเสี่ยงในตลาดอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) จึงแกว่งตัวที่จุดสูงสุดในรอบปี แต่ยังคงขาดโมเมนตัมขาขึ้นในช่วงหลัง ขณะที่ราคาทองคำปรับลดลงจากจุดสูงสุดของวันก่อนหน้าที่ประมาณ $2,400 โดยสอดคล้องกับรูปแบบแท่งเทียน Doji บนกราฟรายวันเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
อีกทางด้านหนึ่ง คู่เงิน EURUSD แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มขาลงเป็นเวลา 7 วัน ในขณะที่ คู่เงิน GBPUSD ดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน แม้จะมีข้อมูลอัตราเงินเฟ้อที่มีการรายงานออกมาหลากหลายทิศทางในประเทศ และยังมีความคลุมเครือเกี่ยวกับบรรยากาศก่อนการแถลงการณ์จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากธนาคารกลางชั้นนำอย่างธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE)
ทั้งนี้ คู่เงิน USDJPY ถอยลงจากระดับสูงสุดในรอบ 34 ปีท่ามกลางการดึงกลับของผลตอบแทนพันธบัตร โดยไม่ตอบสนองต่อข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ตกต่ำ ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบขยายการร่วงลงของวันก่อนหน้าท่ามกลางดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นและความกังวลที่เกี่ยวข้องกับความต้องการพลังงาน
ทางฝั่งของ BTCUSD และ ETHUSD ยังคงไม่มีทิศทางที่ชัดเจน โดยความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตตลาดสกุลเงินดิจิทัลนั้นสวนทางกับความคาดหวังเชิงบวกจากอัตราดอกเบี้ยที่เป็นลบ
มาติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของสินทรัพย์เหล่านี้:
ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) แกว่งตัวที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2023 ท่ามกลางความผันผวนของตลาดในช่วงเช้าวันพุธ ถึงกระนั้น ตัวชี้วัดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักหกสกุลยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ท่ามกลางความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ โดยปัจจัยอื่นๆที่ช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอาจเป็นความกังวลที่จะเกิดขึ้นกับสงครามอิสราเอล-อิหร่าน รวมไปถึงการที่ตลาดมีการพูดถึงสภาวะเงินเฟ้อที่ถดถอยลง
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สื่อของอิสราเอลระบุว่า คณะรัฐมนตรีสงครามของประเทศได้ตัดสินใจที่จะโจมตีภายในอิหร่าน และการโจมตีนี้ควรเริ่ม "โดยเร็วที่สุด" ในขณะเดียวกัน เดอะ ไฟแนนเชียลไทมส์ (FT) ได้อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่อิสราเอลนิรนามคนหนึ่งโดยระบุว่า "จุดประสงค์คือการส่งข้อความอันเจ็บปวดไปยังอิหร่าน"
นอกจากนี้ Jake Sullivan ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ยังทวีตข้อความว่า สหรัฐฯจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรใหม่ต่ออิหร่าน และยังระบุเพิ่มเติมว่า พันธมิตรและพาร์ทเนอร์ของสหรัฐฯจะดำเนินการตามในเร็วๆนี้
ในอีกทางหนึ่ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เผยแพร่รายงานภาวะความมั่นคงทางการเงินโลก (GFSR) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาสภาวะเงินเฟ้อ โดยรายงานระบุว่า "ความเชื่อมั่นใน 'สภาวะการลงจอดอย่างนุ่มนวล (soft landing)' ของเศรษฐกิจกำลังเพิ่มขึ้นในตลาดการเงิน แต่ภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ อาจส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางการเงิน" นอกจากนี้ รายงาน GFSR ของ IMF ยังแนะนำให้ธนาคารกลางควรหลีกเลี่ยงการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินก่อนเวลาอันควร
และเป็นที่น่าสังเกตว่าประธาน Fed Powell ยังมีท่าทีขัดแย้งในวันอังคารโดยได้ออกมากล่าวว่า “แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีความแข็งแกร่ง แต่การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อในปีนี้ยังคงไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน PCE คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 2.8% สำหรับเดือนมีนาคม” ทั้งนี้ Powell ยังกล่าวอีกว่า นโยบายการเงินที่เข้มงวดซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังต้องการเวลาเพิ่มเติมเพื่อแสดงผลลัพธ์ที่ชัดเจน
นอกจากนี้ Philip Jefferson ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯยังได้ผลักดันความกังวลเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป ในขณะที่อ้างถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงมีอยู่ในแถลงการณ์ล่าสุด ซึ่งบ่งชี้ว่าหากอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าการคาดการณ์ ก็อาจจำเป็นต้องรักษาจุดยืนการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดในปัจจุบันต่อไป
นอกเหนือไปจากความคิดเห็นที่มีท่าทีสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed และปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ตัวเลขที่ปรับตัวขึ้นของโมเดล GDPNow ของธนาคารกลางสหรัฐฯประจำแอตแลนตา ที่แสดงถึงการเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ในไตรมาส 1 ที่ 2.9% เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 2.8% ก็ส่งผลดีต่อดอลลาร์สหรัฐฯด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯประจำเดือนมีนาคมยังตรงกับการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0.4% MoM เมื่อเทียบกับตัวเลข 0.4% ที่ปรับเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน ตัวเลขใบอนุญาตการก่อสร้างและการเริ่มต้นการก่อสร้างที่พักอาศัยในสหรัฐฯที่ถดถอยลงในเดือนมีนาคมร่วมกับสภาวะชะลอตัวของตลาดได้ทดสอบช่วงแนวโน้มขาขึ้นดอลลาร์สหรัฐฯที่จุดสูงสุดในรอบหลายวัน
ในทางกลับกัน ประธานธนาคารกลางยุโรป Christine Lagarde ได้ระบุในการสัมภาษณ์กับ CNBC ว่า ธนาคารกลางยุโรปเตรียมพร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ หากยังคงไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดสำคัญเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ คู่เงิน EURUSD จึงร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดใหม่นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2023 โดยเผชิญกับแรงกดดันในช่วงหลัง
ทั้งนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ Bailey ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างสภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯและยุโรป โดยระบุว่ามีแรงกดดันด้านอุปสงค์มากกว่าในสหรัฐฯ นอกจากนี้ เขายังเสริมว่า "ผมเห็นหลักฐานที่ชัดเจนว่ากระบวนการลดเงินเฟ้อกำลังดำเนินไป" นอกจากนี้ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรที่มีการรายงานออกมาในหลากหลายทิศทางเมื่อช่วงต้นวันพุธนั้นยังได้ท้าทายช่วงแนวโน้มขาลงของคู่เงิน GBPUSD ที่ระดับต่ำสุดในรอบหลายวัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดา (BoC) Tiff Macklem ได้ออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณชนว่า นโยบายการเงินได้รับแรงสนับสนุนมากกว่าในแคนาดา (เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา) โดยเสริมว่า "ผมคิดว่าเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในไตรมาส 1 จะยังคงอยู่ตลอดปี 2024" ซึ่งปัจจัยนี้เมื่อประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงยังส่งผลให้ราคาคู่เงิน USDCAD พุ่งสูงขึ้น
อีกทางด้านหนึ่ง คู่เงิน USDJPY ถอยลงจากจุดสูงสุดในรอบหลายปี สอดคล้องกับทิศทางผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปรับตัวลดลง แม้จะมีข้อมูลเศรษฐกิจภายในประเทศที่ค่อนข้างอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคการผลิตและนอกการผลิตของญี่ปุ่นจากสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters-Tankan) ชี้ว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นทั้งสองประเภทต่างปรับลดลงในเดือนมีนาคม อีกทั้งตัวเลขการขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นยังขยายตัวสอดคล้องกับข้อมูลการนำเข้า - ส่งออกที่ตกต่ำลง
แม้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของนิวซีแลนด์สำหรับไตรมาส 1 ปี 2024 จะลดลงเหลือ 4.0% YoY จากการรายงานก่อนหน้าที่ 4.7% แต่คู่เงิน NZDUSD กลับสามารถฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในรอบปี และกลายเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มสกุลเงิน G10 โดยอาจมีสาเหตุมาจากตัวเลขภาคส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคแบบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) ประจำไตรมาส 1 ปี 2024 ที่ปรับตัวดีขึ้นเป็น 0.6% เมื่อเทียบกับ 0.5% ในไตรมาสก่อนหน้า
การรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนครั้งสุดท้ายและการแถลงการณ์ของประธาน ECB Christine Lagarde และ Andrew Bailey ผู้ว่าการ BoE จะกระตุ้นนักลงทุนในตลาด ปัจจัยสำคัญอื่นๆที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รายงาน Beige Book ของ Fed และตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบอย่างเป็นทางการรายสัปดาห์ของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าแนวโน้มที่เงินเฟ้อในสหภาพยุโรปจะผ่อนคลายลงและแถลงการณ์ในเชิงผ่อนคลายนโยบายการเงินจากประธาน ECB Christine Lagarde อาจสร้างแรงกดดันให้คู่เงิน EURUSD แต่คู่เงิน GBPUSD ก็อาจขยายการฟื้นตัวล่าสุดจากระดับต่ำสุดในรอบหลายวัน หากผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) Andrew Bailey เลือกที่จะยังคงยืนยันแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเขา ดังที่กล่าวไปแล้ว ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังดำเนินอยู่ในตะวันออกกลางและการที่เจ้าหน้าที่ Fed ปฏิเสธการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้อาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นการท้าทายแรงเทซื้อทองคำและน้ำมันดิบ อีกทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อสกุลเงิน Antipodeans ด้วยเช่นกัน
ขอให้คุณโชคดีในการเทรด !