เช้าวันพุธนี้ ทิศทางความเชื่อมั่นในตลาดยังคงคลุมเครือ เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ นอกจากนี้ ตลาดยังอยู่ในช่วงเตรียมตัวสำหรับการรายงานข้อมูลและเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรในสัปดาห์นี้ โดยปัจจัยดังกล่าว ยังส่งผลทำให้นักลงทุนทบทวนความคาดหวังเดิมเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงซึ่งช่วยหนุนให้ดอลลาร์สหรัฐฯขยายการฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงต้นสัปดาห์
การฟื้นตัวของดอลลาร์สหรัฐฯประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU) ที่อ่อนแอและความกังวลเกี่ยวกับช่วงเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักร (UK) นั้นยังส่งผลกระทบต่อคู่เงิน EURUSD และคู่เงิน GBPUSD อย่างไรก็ตาม คู่เงิน USDJPY ยังคงปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหยุดยั้งการอ่อนค่าของเงินเยนก็ตาม
อีกทางด้านหนึ่ง คู่เงิน AUDUSD,คู่เงิน NZDUSD และคู่เงิน USDCAD ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์สหรัฐฯและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลง ในขณะที่ คู่เงิน USDCHF ยังคงซบเซา
นอกจากนี้ ทองคำมีราคาเสนอซื้อเป็นบวกโดยพลิกกลับการร่วงลงของวันก่อนหน้าจากการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับจีน รวมไปถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันที่ระดับต่ำสุดในรอบสองเดือน
เมื่อพูดถึงสกุลเงินดิจิทัล BTCUSD และ ETHUSD พุ่งสูงขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 วัน โดยสาเหตุหลักมาจากนักลงทุนคาดหวังว่า อุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีจะเอาชนะการดำเนินงานของสำนักงาน ก.ล.ต. สหรัฐฯ (SEC) ได้ ซึ่งความคาดหวังนี้คาดว่าอาจจะดึงดูดเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น
มาติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของสินทรัพย์เหล่านี้:
ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินขาดข้อมูลและเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมไปถึงมีการรายงานข่าวสารทางเศรษฐกิจออกมาเพียงเล็กน้อย ทำให้นักลงทุนทบทวนความคาดหวังเดิมเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง โดยความคาดหวังเชิงบวกที่ลดลงเหล่านี้ ประกอบกับความคิดเห็นในเชิงบวกเล็กน้อยจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐฯฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ Neel Kashkari ประธานและ CEO ของธนาคารกลางสหรัฐฯประจำมินนิแอโปลิสยังคงยืนกรานในนโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยไม่ตัดทิ้งความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหากจำเป็น โดย Kashkari เชื่อว่าสถานการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ Fed จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับปัจจุบัน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ในกรณีที่ภาวะเงินฝืด (disinflation) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในอีกทางหนึ่ง ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) Kazuo Ueda ได้ออกมากล่าวว่า "BoJ ไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะบรรลุตามประมาณการของเราใน 1.5 ถึง 2 ปี เพื่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย" ซึ่งความคิดเห็นของเขาไม่สามารถช่วยหนุนแรงเทซื้อเงินเยนได้ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้น และความกังวลในวงกว้างเกี่ยวกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยที่แตกต่างกันระหว่างธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ คู่เงิน USDJPY จึงพุ่งสูงขึ้นติดต่อกันสามวันพร้อมกับชะลอการร่วงลงรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022
อีกทางด้านหนึ่ง คู่เงิน EURUSD ชะลอตัวจากช่วงขาขึ้น 4 วันเมื่อวานนี้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้ง คู่เงินยูโรยังไม่ตอบสนองต่อข้อมูลยอดค้าปลีกของยูโรโซนประจำเดือนมีนาคมที่ปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับความคิดเห็นเชิงระมัดระวังของ Joachim Nagel ประธานธนาคารกลางเยอรมนี (Deutsche Bundesbank) และสมาชิกกรรมการสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดย Nagel กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า "หากมีความกดดันด้านราคาเพิ่มขึ้นในระยะกลาง ECB มีความจำเป็นต้องดำเนินการจัดการกับมัน" นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อมูลคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนมีนาคม 2024 ปรับตัวลดลงอย่างน่าประหลาดใจที่ -0.4% MoM ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ +0.4%
นอกจากนั้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการก่อสร้างของสหราชอาณาจักร (UK) ประจำเดือนเมษายน 2024 ปรับตัวดีขึ้นจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 50.2 มาอยู่ที่ 53.0 ส่วนทางด้านดัชนีราคาบ้าน Halifax ประจำเดือนเมษายน 2024 ก็ปรับตัวดีขึ้นจาก -1.0% ในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ +0.1% ด้วยเช่นกัน แม้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของอังกฤษล่าสุดจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังคงไม่สามารถโน้มน้าวแรงเทซื้อเงินปอนด์สเตอร์ลิง (GBP) ได้ แม้ว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะยังคงส่งสัญญาณเข้มงวดทางการเงินอย่างต่อเนื่อง แต่แนวโน้มโดยทั่วไปของธนาคารกลางทั่วโลกกลับมุ่งไปที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ควรสังเกตว่าการปรับลดลงล่าสุดของคู่เงิน GBPUSD อาจเป็นผลมาจากการเตรียมการของเทรดเดอร์สำหรับการประชุมนโยบายการเงินของ BoE ในวันพฤหัสบดี และการรายงานข้อมูล GDP ไตรมาส 1 ของสหราชอาณาจักรในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ รวมไปถึงการฟื้นตัวของของดอลลาร์สหรัฐฯ
สื่อรัฐบาลจีนรายงานเมื่อช่วงเช้าวันนี้ว่า มีความกังวลเกี่ยวกับการที่ธนาคารประชาชนจีน (PBOC) จะปรับลดอัตราเงินสำรอง (Reserve Requirement Ratio: RRR) ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 ทั้งนี้ข่าวสารดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดการเงิน แต่กลับส่งผลกระทบต่อการเทขายสินค้าโภคภัณฑ์และสกุลเงิน Antipodeans ล่าสุด
ด้วยเหตุนี้ สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD), ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (NZD) และ ดอลลาร์แคนาดา (CAD) ยังคงอ่อนค่าลง สาเหตุสำคัญมาจากธนาคารกลางของแต่ละประเทศส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) แม้จะคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงไว้เหมือนเดิม แต่กลับไม่สามารถโน้มน้าวการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดได้ เนื่องจากการวิเคราะห์เศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก อีกทั้ง ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ไม่สามารถส่งเสริมจุดยืนเรื่องนโยบายการเงินที่เข้มงวดได้ในการประชุมนโยบายการเงินล่าสุดด้วยเช่นกัน ขณะที่ ธนาคารกลางแคนาดา (BoC) กลับส่งสัญญาณสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย นอกเหนือไปจากนโยบายของธนาคารกลางแล้ว ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของแคนาดา ยังส่งผลต่อการอ่อนค่าของดอลลาร์แคนาดา (CAD) อีกด้วย
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันที่ระดับต่ำสุดในรอบสองเดือน แม้ว่าสำนักงานสำรองปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานสหรัฐ (DOE) จะประกาศขอซื้อน้ำมันดิบ 3.3 ล้านบาร์เรลเพื่อนำไปเก็บสำรองในคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากข่าวสารที่ระบุว่า Alexander Novak รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรัสเซียได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือเกี่ยวกับการที่รัสเซียจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ทั้งนี้ สาเหตุที่ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงอาจเป็นผลมาจากข้อมูลสำรองน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐฯมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามผลสำรวจของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน (API) รวมไปถึงดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นและปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองที่ลดลง
แม้ดอลลาร์สหรัฐฯจะแข็งค่าขึ้น แต่ราคาทองคำกลับสามารถปรับตัวสูงขึ้น โดยพลิกกลับช่วงแนวโน้มขาลง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์นี้ยังช่วยหนุนนักลงทุนทองคำจากความคาดหวังว่าจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของประเทศต่างๆจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อไป นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ตกต่ำยังช่วยให้ราคาทองคำยังคงพุ่งสูงขึ้นอีกด้วย
ตลาดน่าจะยังคงทรงตัว ท่ามกลางปฏิทินเศรษฐกิจที่เบาบางและยังไม่มีการรายงานข่าวความเสี่ยงสำคัญใดๆออกมา อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หลายท่านอาจส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนที่เน้นเก็งกำไรตามสถานการณ์ ถึงกระนั้น นักลงทุนยังคงมองหาสัญญาณยืนยันว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะเลื่อนออกไปจากกรอบเวลาเดิมที่คาดการณ์กันไว้ในเดือนมิถุนายน โดยสถานการณ์นี้จะช่วยหนุนให้ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นก่อนที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขผู้บริโภคสหรัฐฯในวันศุกร์นี้ นอกจากนี้ ตลาดหลักในยุโรปจะปิดทำการในวันพฤหัสบดี และด้วยเหตุนี้เงินยูโรจึงอาจมีความเคลื่อนไหวเล็กน้อยในก่อนช่วงวันหยุด ซึ่งจะทำให้คู่เงิน EURUSD น่าสนใจสำหรับการซื้อขาย อีกทั้ง เทรดเดอร์ยังเตรียมพร้อมสำหรับการรายงานข้อมูลและเหตุการณ์เศรษฐกิจที่สำคัญของสหราชอาณาจักร (UK) ในสัปดาห์นี้ ส่งผลให้คู่เงิน GBPUSD น่าสนใจสำหรับนักเทรดสายโมเมนตัม โดยคาดว่าราคาคู่เงิน GBPUSD อาจจะปรับตัวลงในช่วงปลายสัปดาห์
ขอให้คุณโชคดีในการเทรด !