ในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี ตลาดกำลังเผชิญกับความวิตกกังวลตามปกติก่อนการประกาศตัวเลข NFP ซึ่งส่งผลให้มีการประเมินแนวโน้มล่าสุดอีกครั้ง สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้นก็คือ การที่อิสราเอลกำลังเตรียมพร้อมที่จะใช้มาตรการทางทหารและยุทธศาสตร์สำคัญต่ออิหร่าน นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) จะเปลี่ยนท่าทีการดำเนินนโยบายไปในทางที่แข็งกร้าว รวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่จำกัดโมเมนตัมของตลาด โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวของจีน นักลงทุนจึงควรระมัดระวังในการซื้อขายขณะรอการรายงานข้อมูลสำคัญในสัปดาห์นี้
ความไม่แน่นอนของตลาดส่งผลกระทบต่อสภาวะการพร้อมรับความเสี่ยงจากช่วงก่อนหน้า และยังช่วยให้ดอลลาร์สหรัฐฯสามารถฟื้นตัวจากการร่วงลงในเดือนกันยายน นอกจากนี้ รายงานตัวเลขการจ้างงาน ADP ที่แข็งแกร่งในวันพุธและการประท้วงหยุดงานที่ท่าเรือสหรัฐฯ ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนค่าเงินดอลลาร์ให้ขยับตัวขึ้นอีกด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้รับแรงสนับสนุนจากท่าทีของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) Jerome Powell ที่คัดค้านการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สองครั้งในปี 2024 อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นของ Thomas Barkin ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯประจำริชมอนด์ได้เพิ่มความระมัดระวังในการซื้อขายดอลลาร์ก่อนการประกาศตัวเลข NFP ซึ่งยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ท้าทายแรงเทซื้อดอลลาร์ในอีกทางหนึ่ง ถึงกระนั้น ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ปรับตัวขึ้นเป็นวันที่สี่ติดต่อกัน ขณะที่ช่วงแนวโน้มขาขึ้นดอลลาร์สหรัฐฯตั้งเป้าหมายไปที่ระดับสูงสุดในรอบหนึ่งเดือน
การปรับตัวขึ้นของดอลลาร์สหรัฐฯส่งผลกระทบต่อยูโร (EUR), ปอนด์อังกฤษ (GBP) และเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งแต่ละสกุลเงินต่างก็กำลังเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ซบเซาของยูโรโซนยังกระตุ้นให้เกิดมุมมองที่สะท้อนถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายเชิงผ่อนคลายจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งกดดันให้คู่เงิน EURUSD แตะระดับต่ำสุดในรอบเดือน
ในสหราชอาณาจักร คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FPC) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับระบบการเงินภายในประเทศ ท่ามกลางความหวาดกลัวการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาคู่เงิน GBPUSD ด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน คู่เงิน USDJPY ปรับตัวสูงขึ้นรายวันครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2022 หลังจากว่าที่นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นปฏิเสธแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง โดยผู้ดำเนินนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) Naguchi ยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งส่งผลให้คู่เงินเยนยังคงปรับตัวขึ้นต่อไป
ดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงในรอบสัปดาห์ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งแกร่ง, ตลาดฝั่งจีนที่ยังไม่มีความเคลื่อนไหว, และความกังวลเกี่ยวกับภาวะการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่ โดยปัจจัยเหล่านี้กำลังสร้างอุปสรรคสำคัญให้กับสกุลเงิน Antipodeans ในขณะที่นักลงทุนต้องเผชิญกับสภาพการซื้อขายที่ไม่แน่นอน นอกจากนี้ ความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่จากธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ยังเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับแนวโน้มขาลงของคู่เงิน AUDUSD และคู่เงิน NZDUSD
อีกทางด้านหนึ่ง คู่เงิน USDCAD มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบสามสัปดาห์ เนื่องจากความคาดหวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่มากขึ้นจากธนาคารกลางแคนาดา (BoC) เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีน้ำหนักมากกว่าการปรับตัวขึ้นล่าสุดของราคาน้ำมันดิบ
ราคาทองคำเผชิญกับสัปดาห์ที่น่าผิดหวังที่สุดในปี 2024 โดยต้องต่อสู้กับความไม่แน่นอนในตลาดท่ามกลางการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ช่วงวันหยุดในจีนยังท้าทายโมเมนตัมในปัจจุบันอีกด้วย โดยราคาทองคำกำลังทำลายแนวโน้มขาขึ้นสามสัปดาห์ ขณะที่รักษาระดับการถอยกลับจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ของการปรับลดลงของระดับราคาเพิ่มเติม หากสภาวะตลาดล่าสุดยังคงดำเนินต่อไป
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบกำลังกลับตัวจากการร่วงลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน รวมถึงการตอบโต้ของ OPEC+ ที่สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันได้ปฏิเสธการคาดการณ์เกี่ยวกับการตั้งเป้าราคาน้ำมันที่ระดับ $50.00 ซึ่งได้ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน ร่วมกับการลดลงของปริมาณสินค้าคงคลังน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอื่นๆ Bitcoin (BTC/USD) และ Ethereum (ETH/USD) กำลังเตรียมตัวสำหรับการปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบสี่สัปดาห์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ และแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่แข็งกร้าวของ Fed อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นเชิงบวกในอุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัลของสหรัฐฯ และการไหลเข้าของเงินทุนอย่างมีนัยสำคัญสู่กองทุน ETF ยังช่วยป้องกันไม่ให้ระดับราคาร่วงลงอย่างรวดเร็วอีกด้วย
ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่หลากหลายจะเติมเต็มให้ปฏิทินเศรษฐกิจในวันพฤหัสบดีนี้เต็มไปด้วยความคึกคัก ซึ่งจะดึงดูดความสนใจของนักลงทุนที่เน้นการเคลื่อนไหวของตลาดด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่รายงานการจ้างงานของสหรัฐฯในเดือนกันยายน โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ที่คาดว่าจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนตลาดที่สำคัญ
จุดสนใจในวันพฤหัสบดีจะอยู่ที่การรายงานคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯในเดือนสิงหาคม, ดัชนี PMI ภาคบริการ ISM ประจำเดือนกันยายน และจำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ โดยการปรับตัวขึ้นล่าสุดของตัวเลขการจ้างงาน ADP ยังทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของตลาดงานในสหรัฐฯ และยังส่งผลให้นักเทรดฝั่งซื้อดอลลาร์สหรัฐฯมองหาข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเพื่อสนับสนุนแรงเทซื้อที่พุ่งสูงขึ้นก่อนการประกาศรายงานการจ้างงานในวันศุกร์นี้ หากการรายงานมีแนวโน้มเชิงบวกอย่างมาก ก็อาจผลักดันให้ตลาดยังคงรักษาระดับโมเมนตัมนี้ต่อไป
สำหรับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ในวันศุกร์ มีการคาดการณ์ว่าน่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ถึงกระนั้น ข้อมูล ADP ที่แข็งแกร่งขึ้นกลับช่วยหนุนความเชื่อมั่นเชิงบวกของช่วงแนวโน้มขาขึ้นดอลลาร์สหรัฐฯ โดยภาวะกระทิงของดอลลาร์จะจับตามองตัวเลขการรายงานที่สูงกว่า 140,000 เพื่อรักษาระดับโมเมนตัมขาขึ้น ในอีกทางหนึ่ง อัตราการว่างงานมีแนวโน้มที่จะยังคงที่และอาจไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญใดๆ เว้นแต่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม หากข้อมูลรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาดและปรับตัวลง ก็อาจส่งผลให้ความแข็งแกร่งล่าสุดของดอลลาร์สหรัฐฯถูกท้าทาย
โดยภาพรวม หากรายงานการจ้างงานของสหรัฐฯแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพในเดือนกันยายน ความเชื่อมั่นล่าสุดต่อท่าทีสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ดอลลาร์สหรัฐฯสามารถรักษาระดับการปรับตัวสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หากข้อมูลมีการรายงานที่น่าผิดหวัง แนวโน้มนี้อาจพลิกกลับอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้ความแข็งแกร่งของดอลลาร์สหรัฐฯปรับลดลง ในอีกทางหนึ่งยังช่วยให้สินค้าโภคภัณฑ์และสกุลเงินกลุ่ม Antipodeans กลับมาขยับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง
ที่สำคัญกว่านั้น ราคาทองคำยังคงอยู่เหนือระดับแนวต้านที่เปลี่ยนเป็นแนวรับที่ประมาณ $2,630 และมีแนวโน้มที่จะทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ราวๆ $2,700 ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวน่าจะได้รับอิทธิพลจากข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ถดถอยลง และความผันผวนของดอลลาร์สหรัฐฯ
ขอให้คุณโชคดีในการเทรด!