แม้ตลาดจะยังคงมีความกังวลอยู่บ้าง แต่ก็เริ่มมีความหวังอย่างระมัดระวัง เนื่องจากนักลงทุนเริ่มยอมรับว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนมิถุนายน ประกอบกับสัญญาณการจ้างงานของสหรัฐฯที่ถดถอยลงและความคาดหวังที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากจีน รวมถึงโอกาสที่ประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกจะเข้าสู่สภาวะการลงจอดอย่างนุ่มนวล (Soft Landing) ล้วนสร้างแรงกดดันด้านลบต่อดอลลาร์สหรัฐฯและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ
ปัจจัยเดียวกันนี้ยังทำให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเดือน โดยลดลงเป็นวันที่ห้าติดต่อกัน ด้วยเหตุนี้ คู่เงิน EURUSD จึงขยับตัวสูงขึ้นผ่านระดับราคาที่ราวๆ 1.0900 เนื่องจากเทรดเดอร์สกุลเงินยูโรเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในขณะที่ คู่เงิน GBPUSD ได้รับแรงหนุนจากงบประมาณของสหราชอาณาจักรที่มีทิศทางดีขึ้น โดยดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเดือน
นอกจากนี้ คู่เงิน AUDUSD ยังคงทำหน้าที่เป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงของตลาด ขณะที่ คู่เงิน USDJPY ร่วงลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยลดลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน อีกทางด้านหนึ่ง คู่เงิน NZDUSD พุ่งสูงขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ คู่เงิน USDCAD ยังเคลื่อนไหวไร้ทิศทาง หลังจากที่ร่วงลงมากที่สุดในปี 2024 ในวันก่อนหน้า นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังพยายามรักษาระดับการฟื้นตัวของวันก่อนหน้า ท่ามกลางการรายงานข้อมูลที่หลากหลายเกี่ยวกับอุปสงค์และอุปทาน
และเป็นที่น่าสังเกตว่า BTCUSD และ ETHUSD ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในรอบหลายปี ท่ามกลางความเชื่อมั่นที่มีทิศทางดีขึ้นในตลาดคริปโต โดย ETHUSD แตะระดับสูงสุดใหม่นับตั้งแต่ต้นปี 2022 ขณะที่ BTCUSD มีราคาเสนอซื้อเป็นบวกหลังจากที่ร่วงลงจากจุดสูงสุดตลอดกาลในช่วงต้นสัปดาห์
มาติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของสินทรัพย์เหล่านี้:
แม้ว่าประธาน Fed Powell จะคลี่คลายความกังวลเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในทันทีและสนับสนุนการลงจอดอย่างนุ่มนวลของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ดอลลาร์สหรัฐฯก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ โดยอาจเป็นผลมาจากสภาวะทรงตัวของตลาดร่วมกับความกังวลเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ไม่สามารถฟื้นตัว
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือนในช่วง 5 วันติดต่อกัน สิ่งนี้ส่งผลให้สกุลเงินหลักพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์และค่าเงิน AUD,NZD ก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากตลาดหุ้นพยายามรักษาแนวโน้มขาขึ้นก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าราคาทองคำแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ประมาณ $2,160 ก็ตาม ในบรรดาปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ ดอลลาร์สหรัฐฯและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปรับลดลงได้ผลักดันราคา XAUUSD ท่ามกลางความคาดหวังเชิงบวกของตลาดแม้จะมีท่าทีที่ระมัดระวัง
ทางด้านหนึ่ง คู่เงิน USDJPY ร่วงลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่สกุลเงินหลักอื่นๆ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) อีกทั้ง กระแสการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษนั้นได้ทวีความเข้มข้นขึ้นจากความคิดเห็นของผู้ว่าการธนาคารกลาง Kazuo Ueda และ Junko Nakagawa ผู้กำหนดนโยบายการเงิน โดยทั้งสองท่านเห็นพ้องว่า ภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และยังส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอนาคต
ในทางกลับกัน ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีที่ชะลอตัวลงสวนทางกับยอดค้าปลีกในยูโรโซนที่ขยายตัวขึ้นได้ทดสอบช่วงแนวโน้มขาขึ้นของคู่เงิน EURUSD ที่จุดสูงสุดในรอบเดือน ท่ามกลางบรรยากาศที่นักลงทุนกำลังจับตาดูการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้
นอกจากนี้ คู่เงิน GBPUSD ยังได้รับแรงหนุนจากงบประมาณในช่วงฤดูใบไม้ผลิของสหราชอาณาจักร ซึ่งบ่งชี้ถึงการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมสำหรับประชาชนชาวอังกฤษเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้น ราคาน้ำมันดิบยังฟื้นตัวขึ้นสืบเนื่องมาจากปริมาณสำรองน้ำมันดิบของสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลกนั้นยังได้ทดสอบช่วงแนวโน้มขาขึ้นของตลาดพลังงานในช่วงหลังอีกด้วย
แม้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยังคงนโยบายการเงินเดิม แต่ตลาดก็ยังให้ความสนใจกับแถลงการณ์นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ เหตุผลก็เพราะว่าแถลงการณ์นี้อาจจะมีสัญญาณเบื้องต้นเกี่ยวกับการเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือโอกาสที่เศรษฐกิจของยุโรปจะเข้าสู่สภาวะการลงจอดอย่างนุ่มนวล (Soft Landing) ซึ่งหากมีสัญญาณเหล่านี้ออกมาจะส่งผลให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้น และสร้างแรงกดดันต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ในอีกทางหนึ่ง การขึ้นแถลงการณ์ครั้งที่สองของ Powell ตัวเลขการยื่นขอสวัสดิการว่างงานประจำสัปดาห์ของสหรัฐฯ และตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯรายเดือน จะส่งผลต่อความผันผวนของตลาดมากขึ้น และอาจช่วยให้ดอลลาร์สหรัฐฯฟื้นตัวจากการอ่อนค่าที่ผ่านมาได้หากข้อมูลเหล่านี้ออกมาในทิศทางที่ดี
นอกเหนือไปจากข้อมูล/เหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ประธานาธิบดี Joe Biden ของสหรัฐฯยังมีกำหนดการแถลงการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะเงินเฟ้อของของสหรัฐฯ สิ่งนี้อาจช่วยให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯสามารถชะลอการร่วงลงได้ หากแถลงการณ์ของ Biden มีความสอดคล้องกับท่าทีที่สนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ Powell และข้อมูลที่มีกำหนดการเผยแพร่มีสัญญาณเชิงบวก
ขอให้คุณโชคดีในการเทรด !