ความเชื่อมั่นของตลาดยังคงผันผวน เนื่องจากสัปดาห์สำคัญที่ประกอบไปด้วยข้อมูลอัตราเงินเฟ้อจากจีนและสหรัฐฯ รวมถึงการประกาศนโยบายจากธนาคารกลางของสหรัฐฯและญี่ปุ่น เริ่มต้นด้วยปฏิทินข่าวเศรษฐกิจที่เบาบาง ท่ามกลางช่วงวันหยุดในจีน ฮ่องกง และออสเตรเลีย โดยนอกเหนือไปจากบรรยากาศการซื้อขายที่มีความระมัดระวังและช่วงวันหยุดแล้ว พาดหัวข่าวทางภูมิรัฐศาสตร์ที่หลากหลายและการเปลี่ยนแปลงล่าสุดเกี่ยวกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายของ Fed ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จำกัดการเคลื่อนไหวของตลาดเช่นกัน
ถึงกระนั้น ดอลลาร์สหรัฐฯยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่รักษาระดับการพุ่งขึ้นสูงสุดในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากรายงานการจ้างงานของสหรัฐฯที่สดใส สิ่งเหล่านี้ยังเป็นอุปสรรคสำหรับแรงเทซื้อสินค้าโภคภัณฑ์และสกุลเงินกลุ่ม Antipodeans อีกทั้งยังสร้างแรงกดดันด้านลบให้สกุลเงินหลักอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม คู่เงิน EURUSD ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน ขณะที่ คู่เงิน GBPUSD ยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดัน โดยอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ คู่เงิน USDJPY ยังคงพุ่งสูงขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะออกมาผสมผสาน ในขณะที่ คู่เงิน AUDUSD ดีดตัวขึ้นจากการร่วงลงในวันก่อนหน้า ส่วนทางด้าน คู่เงิน NZDUSD และคู่เงิน USDCAD ยังขาดทิศทางที่ชัดเจน
น่าสังเกตว่า ราคาน้ำมันดิบไม่ตอบสนองต่อการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ และยังคงทรงตัวแข็งแกร่ง ในขณะที่ ราคาทองคำแกว่งตัวใกล้แนวรับระยะสั้นหลังจากร่วงลงอย่างหนักในวันก่อนหน้า
ในอีกด้านหนึ่ง แม้ยอดขายของ NFT รูปแบบ Bitcoin Ordinals จะเพิ่มขึ้น แต่ BTCUSD ก็ยังคงเผชิญกับแรงกดดันขณะที่พยายามที่จะขยายการพุ่งสูงขึ้นในรอบสัปดาห์ต่อไป ในขณะเดียวกัน ETHUSD ยังคงถูกกดดัน ท่ามกลางข่าวการละเมิดความปลอดภัยอีกครั้งในผู้ให้บริการรายใหญ่
มาติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของสินทรัพย์เหล่านี้:
ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ยังคงแข็งแกร่ง แตะระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน หลังจากที่พุ่งขึ้นแรงที่สุดในรอบ 2 วัน เมื่อวันก่อนหน้า ดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นอย่างโดดเด่นนี้อาจเชื่อมโยงกับการปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งของจำนวนการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) และค่าเฉลี่ยรายได้ต่อชั่วโมง ซึ่งส่งผลต่อการคาดการณ์เดิมเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งของ Fed ในปี 2024 หลังจากได้รับข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯที่มีทิศทางเชิงบวก Lael Brainard ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Economic Council: NEC) ของสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ออกมากล่าวว่า รายงานการจ้างงานของสหรัฐฯถือเป็นข่าวดีสำหรับแรงงานชาวอเมริกัน
นอกเหนือไปจากข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ตัวเลขการประมาณการณ์ข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ โดย GDPNow ของธนาคารกลางสหรัฐฯประจำแอตแลนตา มีตัวเลขปรับขึ้นจาก 2.8% เป็น 3.1% ซึ่งช่วยหนุนการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯในวันศุกร์
ขณะนี้ พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดหลายพรรคได้รับความนิยมมากขึ้นในยุโรป และท้าทายผู้นำที่อยู่ในอำนาจมานาน การเปลี่ยนแปลงนี้ผลักดันให้ประธานาธิบดีฝรั่งเศส Emmanuel Macron ประกาศยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่อย่างกะทันหัน และกลายเป็นข่าวใหญ่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าเงินยูโร (EUR) ด้วยเช่นกัน ถึงกระนั้น Robert Holzmann ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรียและสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้กล่าวในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การที่ธนาคารกลางยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินยูโร (EUR) โดยกดให้เงินยูโรอ่อนค่าลงและกระตุ้นเงินเฟ้อให้พุ่งสูงขึ้น ซึ่งในทางกลับกันก็อาจช่วยพยุงราคาคู่เงิน EURUSD ด้วยเช่นกัน แม้ว่าประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) Christine Lagarde จะออกมาปกป้องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปฏิเสธความกังวลเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในการแถลงการณ์ของเธอเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยพยุงคู่เงินยูโรได้ ท่ามกลางความแข็งแกร่งของดอลลาร์สหรัฐฯที่ได้รับแรงหนุนจากข้อมูลตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯที่มีทิศทางที่ดีขึ้น
แม้ว่าจะเป็นวันหยุดในออสเตรเลียและดอลลาร์สหรัฐฯยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักกลุ่ม Antipodeans แต่คู่เงิน AUDUSD ยังคงมีราคาเสนอซื้อเป็นบวกเล็กน้อย ขณะที่ สำนักข่าวรอยเตอร์มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับแผน “มาตรฐานทองคำ” (Gold Standard) ที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่กำลังมีการพิจารณา เพื่อจำกัดแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการถ่านหินก่อนการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติในปีนี้ ซึ่งแผนดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาถ่านหินให้ปรับตัวสูงขึ้นและช่วยหนุนประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างออสเตรเลีย
ในขณะที่คู่เงิน AUDUSD สามารถฟื้นตัวจากแนวโน้มขาลง โดยดีดตัวขึ้นจากแนวรับที่เส้น 50-SMA แต่คู่เงิน NZDUSD ยังคงได้รับแรงกดดันอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ และพยายามฟื้นตัวหลังจากราคาร่วงลงมากที่สุดในรอบเกือบ 8 เดือน สาเหตุอาจสืบเนื่องมาจากสภาวะการทรงตัวของตลาดท่ามกลางช่วงวันหยุดในจีน ฮ่องกง และออสเตรเลีย รวมไปถึงความกังวลเกี่ยวกับข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของจีนและสหรัฐฯที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ ประกอบกับการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
แม้ว่าคู่เงิน USDCAD จะยังคงแข็งแกร่งที่ระดับสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์ ขณะที่พยายามปรับตัวสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ด้วยปัจจัยเหล่านี้ คู่เงิน Loonie จึงได้รับผลกระทบจากข้อมูลตัวเลขการจ้างงานของแคนาดาที่มีการรายงานออกมาในหลากหลายทิศทาง และการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางแคนาดา (BoC) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม
ในอีกทางหนึ่ง ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1 ของญี่ปุ่น (Q1) ที่ปรับแก้แล้ว ยืนยันการคาดการณ์ที่ -0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายปีจาก -2.0% เป็น -1.8% อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP Deflator) ของญี่ปุ่นลดลงจาก 3.6% เป็น 3.4% ส่งผลให้คู่เงิน USDJPY ชะลอการร่วงลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้นและความคิดเห็นใหม่ที่เรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) จะลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) รายเดือน ยังคงเป็นปัจจัยบั่นทอนไม่ให้คู่เงินเยนขยับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น โดยไม่ตอบสนองต่อดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นและความกังวลของตลาด โดยพลิกกลับจากการปรับตัวลงในวันก่อนหน้า ขณะที่นักลงทุนในตลาดดูเหมือนจะยังมีความเชื่อมั่นเชิงบวก ก่อนการรายงานการคาดการณ์ตลาดพลังงานประจำเดือนขององค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ในวันอังคารและวันพุธตามลำดับ ปัจจัยดังกล่าวอาจเชื่อมโยงกับการประกาศขยายการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของจีน นอกจากนี้ สภาวะทรงตัวของราคาน้ำมันจากระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และความคลุมเครือเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งส่งผลต่อช่วงแนวโน้มขาขึ้นของดอลลาร์สหรัฐฯเป็นระยะๆ รวมถึงความคาดหวังที่จะได้เห็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับตัวขึ้นล่าสุดของราคาน้ำมันดิบ
ในทางกลับกัน ราคาทองคำยังคงอยู่ในภาวะผันผวน แม้ราคาจะเคลื่อนไหวใกล้แนวรับที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอายุ 9 สัปดาห์ หลังจากเผชิญกับการร่วงลงรายวันมากที่สุดนับตั้งแต่พฤศจิกายน 2020 ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลของตลาดก่อนการเผยแพร่ข้อมูลและกิจกรรมสำคัญประจำสัปดาห์นี้ ท่ามกลางวันหยุดในจีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ นอกจากนี้ ความท้าทายล่าสุดของแนวโน้มที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะผ่อนคลายนโยบายการเงิน รวมถึงกระแสข่าวที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) กดดันธนาคารขนาดเล็กของจีนไม่ให้ให้การช่วยเหลือแก่รัสเซีย ยังเป็นปัจจัยที่กดดันแรงเทซื้อทองคำอีกด้วย
วันจันทร์นี้ ช่วงวันหยุดในประเทศเศรษฐกิจหลัก ปฏิทินข่าวเศรษฐกิจที่เบาบาง และบรรยากาศการซื้อขายที่มีความระมัดระวังก่อนการรายงานข้อมูลและกิจกรรมสำคัญในสัปดาห์นี้ จะเป็นปัจจัยที่จำกัดความเคลื่อนไหวของตลาด อย่างไรก็ตาม ตัวเลขความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) ประจำเดือนมิถุนายนของยูโรโซน และข่าวการเมืองฝรั่งเศส อาจดึงดูดความสนใจเทรดเดอร์คู่เงิน EURUSD ได้ นอกจากนี้ ปฏิกิริยาของนักลงทุนหุ้นต่อความท้าทายทางการเมืองล่าสุด ก็เป็นสิ่งที่น่าจับตามองเช่นกัน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรโดยรวม
เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องจับตามองในสัปดาห์นี้คือ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ในขณะเดียวกัน ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อจากสหรัฐฯและจีน รวมไปถึงรายงานการจ้างงานของสหราชอาณาจักร ก็อาจส่งผลต่อเทรดเดอร์ที่อาศัยโมเมนตัมในการเทรดได้เช่นกัน
ขอให้คุณโชคดีในการเทรด !