ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการภาษีของทรัมป์ เขย่าตลาดโลกและบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภท ภาวะการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในตลาดยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกแถลงการณ์เตือนล่าสุดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการดังกล่าว และการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของจีนโดย ฟิทช์ (Fitch) อีกทั้ง มาตรการภาษีตอบโต้จากแคนาดา จีน และฝรั่งเศส รวมถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศอื่นๆจะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ยังกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการลุกลามของสงครามการค้า
นอกจากนี้ บรรยากาศการลงทุนที่ระมัดระวังก่อนแถลงการณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เจอโรม พาวเวลล์ และรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตร (NFP) ของสหรัฐฯที่กำลังจะมาถึง ยังเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับตลาดอีกด้วย
ดอลลาร์สหรัฐฯ หุ้น น้ำมันดิบ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่างปรับตัวลง ขณะที่ สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างฟรังก์สวิส (CHF) และเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้น ถึงแม้ว่าบรรยากาศในตลาดจะมีทิศทางเชิงลบ ประกอบกับดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง แต่ราคาทองคำกลับไม่สามารถปรับตัวขึ้นตามแรงหนุนจากกระแสเงินทุนที่มุ่งเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยได้ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์จากจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริโภคทองคำรายใหญ่ของโลกที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาด
ในขณะเดียวกัน คริปโทเคอร์เรนซี เช่น Bitcoin (BTCUSD) และ Ethereum (ETHUSD) เริ่มทรงตัวจากการร่วงลงก่อนหน้านี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการดึงกลับของดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งช่วยจำกัดช่วงแนวโน้มขาลง แม้ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมคริปโตยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน และบรรยากาศการลงทุนโดยรวมที่ยังคงเป็นลบ
ดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงทั่วกระดาน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวจากนโยบายภาษีที่แข็งกร้าว และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการคงจุดยืนการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed ซึ่งส่งผลให้สกุลเงินหลักอื่นๆแข็งค่าขึ้น แม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงซบเซา โดยคู่เงิน EURUSD และคู่เงิน GBPUSD ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2024 ขณะที่ คู่เงิน USDJPY และคู่เงิน USDCHF ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบหกเดือน
อีกปัจจัยที่สนับสนุนแนวโน้มขาขึ้นของเงินยูโรและเงินปอนด์ ได้แก่ ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐฯ และสัญญาณเชิงบวกจากทำเนียบขาวที่อาจเปิดให้มีการเจรจาผ่อนปรนภาษีกับสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าวันศุกร์พบว่า EUR และ GBP เริ่มเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยต่างๆ เช่น สัญญาณที่ยังไม่ชัดเจนจากรายงานการประชุมนโยบายการเงินของ ECB ท่าทีการตอบโต้ภาษีของสหภาพยุโรป และดัชนี PMI ที่ปรับลดลงของอังกฤษ ซึ่งส่งผลให้แรงเทซื้อในตลาดชะลอตัวลง
ในอีกทางหนึ่ง ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) คาซูโอะ อูเอดะ และรองผู้ว่าการ อูชิดะ ได้แสดงท่าทีระมัดระวังในแถลงการณ์ของพวกเขา ซึ่งช่วยชะลอการปรับลดลงของคู่เงิน USDJPY อย่างไรก็ตาม มีการรายงานว่า โตเกียวอาจกำลังพิจารณามาตรการตอบโต้ภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม ทำให้ฝั่งกระทิงของเงินเยน (JPY) ยังคงมีความหวัง ขณะที่ USDCHF ยังคงร่วงลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากสถานะสินทรัพย์ปลอดภัยของฟรังก์สวิส (CHF) และสัญญาณที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐฯ
ดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลงหนุนให้สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และดอลลาร์แคนาดาปิดตัวในแดนบวกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของจีน—ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของทั้งสามประเทศ—รวมถึงสถานะของสกุลเงินเหล่านี้ในฐานะสินทรัพย์ที่อ่อนไหวต่อความเสี่ยง ยังคงทำให้บรรยากาศการลงทุนเป็นไปอย่างระมัดระวัง และส่งผลให้เกิดแรงเทขายกลับมาในช่วงเช้าวันศุกร์
ด้วยปัจจัยดังกล่าว คู่เงิน AUDUSD และคู่เงิน NZDUSD ปรับตัวลดลง ขณะที่ คู่เงิน USDCAD ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบสี่เดือน อย่างไรก็ตาม ช่วงขาขึ้นของคู่เงิน USDCAD ยังค่อนข้างจำกัด เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐฯยังคงเผชิญแรงกดดันจากแนวโน้มขาลง ทางด้านราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของแคนาดา ร่วงลงอย่างหนัก เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ที่ลดลงกลับมาอีกครั้ง ประกอบกับข่าวจาก OPEC+ ที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงด้านอุปทานที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นยังได้รับผลกระทบจากมุมมองของ Fitch ที่ปรับลดอันดับเครดิตของจีนลงมาอยู่ที่ระดับ 'A' โดยแนวโน้มยังคงมีเสถียรภาพ ยิ่งเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงมีความระมัดระวังก่อนการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานรายเดือนของสหรัฐฯและแคนาดา ประกอบกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและแคนาดาที่กลับมาอีกครั้ง แม้ว่าจะมีมาตรการผ่อนปรนภาษีบางส่วนภายใต้ข้อตกลง USMCA ก็ตาม ล้วนเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนการดีดตัวขึ้นของคู่เงิน USDCAD
แม้ดอลลาร์สหรัฐฯจะอ่อนค่าลงและบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกอยู่ในโหมดหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ราคาทองคำกลับเกิดการดึงกลับจากจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และปิดตลาดวันพฤหัสบดีในแดนลบ โดยยังคงร่วงลงต่อเนื่องมาถึงช่วงเช้าวันศุกร์ ปัจจัยหลักที่กดดันราคาทองคำ คือ ความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าทองคำรายใหญ่ของโลก นอกจากนี้ การปิดทำการของตลาดการเงินในปักกิ่งและฮ่องกง ยิ่งซ้ำเติมบรรยากาศดังกล่าว
นอกจากนี้ ภาวะที่บ่งชี้ถึงแรงเทซื้อที่มากเกินไป (Overbought) จากการปรับตัวขึ้นติดต่อกันสามเดือน รวมถึงความล้มเหลวในการปิดตลาดรายวันเหนือแนวต้านที่ระดับ $3,146 ต่างก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำเผชิญแรงกดดันและเข้าสู่ช่วงปรับฐาน (correction)
ราคาน้ำมันดิบร่วงหนักที่สุดในรอบวันนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022 โดยได้รับแรงกดดันจากบรรยากาศหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในตลาดโลกและสัญญาณจาก OPEC+ ที่อาจเพิ่มกำลังการผลิต โดยคาดว่าการปรับเพิ่มครั้งใหญ่ที่สุดอาจเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ ปัจจัยลบที่ซ้ำเติมตลาดน้ำมัน ได้แก่ ตัวเลขปริมาณน้ำมันคงคลังสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้น การเรียกร้องของทรัมป์ที่ให้เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันภายในประเทศ และความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ที่ลดลงจากผู้บริโภครายใหญ่อย่าง จีน แม้ว่าดอลลาร์สหรัฐฯจะอ่อนค่าลง ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์
ในขณะเดียวกัน คริปโทเคอร์เรนซีเผชิญแรงกดดันต่อเนื่อง โดย Bitcoin (BTCUSD) และ Ethereum (ETHUSD) กลับตัวลงหลังจากการดีดตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยในวันก่อนหน้า แม้ว่าการฟื้นตัวในวันพฤหัสบดีจะได้รับแรงหนุนบางส่วนจากดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลงและการสนับสนุนร่างกฎหมาย Stablecoin ของคณะกรรมาธิการบริการทางการเงินแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (US House Financial Services Committee) แต่บรรยากาศเชิงลบในตลาดและภาวะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงยังคงจำกัดโอกาสในการปรับตัวขึ้นของสกุลเงินดิจิทัล
แม้ว่าปฏิกิริยาของตลาดโลกต่อมาตรการภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ และความคืบหน้าทางการเมืองที่เกี่ยวข้องจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดบรรยากาศการลงทุนในวันศุกร์นี้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจะยังคงจับตามองถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เจอโรม พาวเวลล์ และรายงานการจ้างงานประจำเดือนของสหรัฐฯและแคนาดาอย่างใกล้ชิด เพื่อหามองหาทิศทางใหม่ของตลาด
นักลงทุนกำลังรอให้พาวเวลล์จะยืนยันความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและอุปสรรคทางด้านนโยบาย ซึ่งหากสอดคล้องกับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (NFP) ที่อ่อนแอ และการเติบโตของค่าจ้างที่ชะลอตัว อาจเป็นปัจจัยที่ยิ่งช่วยหนุนช่วงแนวโน้มขาลงของดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หากพาวเวลล์แสดงท่าทีเชิงบวกเกินคาด หรือตัวเลขแรงงานสหรัฐฯแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็อาจช่วยพยุงค่าเงินดอลลาร์ได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าดอลลาร์สหรัฐฯอาจอ่อนค่าลง แต่สินทรัพย์ที่อ่อนไหวต่อความเสี่ยงอย่างเช่น สกุลเงินกลุ่ม Antipodeans, ทองคำ, น้ำมันดิบ และคริปโทเคอร์เรนซี อาจยังคงเผชิญแรงกดดันจากภาวะการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในตลาด ในขณะเดียวกัน ดอลลาร์แคนาดา (CAD) อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม หากรายงานการจ้างงานภายในประเทศส่งสัญญาณสนับสนุนแนวโน้มการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางแคนาดา (BoC)ตามการคาดการณ์ในตลาด
ขอให้คุณโชคดีในการเทรด!