ช่วงวันหยุดยาวในสหรัฐฯและสหราชอาณาจักร ประกอบกับปฏิทินเศรษฐกิจที่เบาบางในภูมิภาคอื่น จะจำกัดความเคลื่อนไหวของตลาดในช่วงต้นวันจันทร์ ถึงกระนั้น ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ผันผวนในวันศุกร์ และบรรยากาศการซื้อขายที่ระมัดระวังก่อนการรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อสำคัญประจำสัปดาห์นี้ ยังส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นในรอบสัปดาห์ นอกจากนี้ สัญญาณเชิงบวกจากจีนและการไม่มีข่าวเชิงลบที่ส่งผลต่อความเสี่ยงในตลาดจากที่อื่นๆ ยังช่วยหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯปรับลดลง และส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงสกุลเงินกลุ่ม Antipodeans ทรงตัวจากการร่วงลงก่อนหน้านี้
เป็นที่น่าสังเกตว่า คู่เงิน EURUSD และคู่เงิน GBPUSD ไม่ได้รับแรงหนุนจากการดึงกลับของดอลลาร์สหรัฐฯ ท่ามกลางแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) อย่างไรก็ตาม คู่เงิน USDJPY ปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 วัน โดยอาจมีสาเหตุมาจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ที่มีท่าทีลังเลที่จะยังคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย
คู่เงิน AUDUSD และคู่เงิน NZDUSD ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงวันศุกร์ ซึ่งเป็นผลมาจากข้อมูลเศรษฐกิจของจีนที่ปรับตัวดีขึ้นและความคาดหวังที่จะได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากลูกค้ารายใหญ่ที่สุดอย่างประเทศจีน ในอีกทางหนึ่ง คู่เงิน USDCAD ชะลอการร่วงลงที่แรงที่สุดในรอบ 9 สัปดาห์แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะดีดตัวสูงขึ้นก็ตาม โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนมาจากข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่มีทิศทางเป็นบวกและความกังวลเกี่ยวกับข้อตกลงการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ แต่ความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed ยังคงท้าทายแรงเทซื้อพลังงานหลังจากนั้น อีกทางด้านหนึ่ง ราคาทองคำกำลังค่อยๆฟื้นตัวหลังจากที่ร่วงลงแรงที่สุดในรอบสัปดาห์นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2023 โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางการดึงกลับของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯและการรายงานข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับจีน
เมื่อพูดถึงสกุลเงินดิจิทัล BTCUSD ขยับตัวขึ้นต่อเนื่องจากแนวโน้มขาขึ้น 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ ETHUSD ยังอยู่ในเรดาร์ของช่วงแนวโน้มขาขึ้นเช่นกัน หลังจากที่พุ่งสูงขึ้นมากที่สุดในรอบสัปดาห์นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ความคาดหวังเชิงบวกเกี่ยวกับการอนุมัติ spot ETH ETF จากสำนักงาน ก.ล.ต. สหรัฐฯ (US SEC) และร่างกฎหมาย FIT21 ยังช่วยหนุนคริปโทเคอร์เรนซีให้ปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย
มาติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของสินทรัพย์เหล่านี้:
สัญญาณเงินเฟ้อสหรัฐฯที่มีทิศทางที่ดีขึ้นและแถลงการณ์ที่มีแนวโน้มสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวดจากคณะกรรมการ FOMC ช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในสัปดาห์ที่ผ่านมา และยังส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นในรอบสัปดาห์ โดยอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังเป็นความกังวลที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง จีน และรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตัวเลขคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ปรับลดลงในวันศุกร์ ยังส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐฯเกิดการดึงกลับ โดยดอลลาร์สหรัฐฯยังอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงต้นวันจันทร์ ท่ามกลางตลาดในสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรที่ปิดทำการในช่วงวันหยุดยาวและความคาดหวังเชิงบวกอย่างระมัดระวังที่เกี่ยวข้องกับจีน
ถึงกระนั้น ผลกำไรภาคอุตสาหกรรมของจีนในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน ยังคงเติบโตอย่างมั่นคงที่ 4.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อีกทั้ง การรายงานตัวเลขรายเดือนสำหรับเดือนเมษายนนั้นยังเป็นที่น่าประทับใจ โดยเพิ่มขึ้น 4.0% เมื่อเทียบกับการหดตัว 3.5% ในเดือนมีนาคม นอกเหนือไปจากข้อมูลเศรษฐกิจของจีนที่ปรับตัวดีขึ้นแล้ว ข่าวสารเกี่ยวกับการที่จีนตั้งกองทุนมูลค่า 47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่สนับสนุนโดยรัฐบาล เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ยังช่วยให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และสกุลเงิน Antipodeans ทรงตัวจากการร่วงลงในสัปดาห์ก่อนหน้าได้อีกด้วย
แม้ดอลลาร์สหรัฐฯจะอ่อนค่าลง แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงยืนยันการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้คู่เงิน EURUSD ไม่สามารถรักษาการฟื้นตัวต่อเนื่องของวันก่อนหน้าจากเส้น 100-SMA ได้ ในขณะเดียวกัน ตัวเลขยอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักรที่ถดถอยลงที่ได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกอบกับความตึงเครียดทางการเมืองในสหราชอาณาจักรก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ยังท้าทายช่วงแนวโน้มขาขึ้นของคู่เงิน GBPUSD อีกด้วย
ทางฝั่งของคู่เงิน USDJPY ร่วงลงครั้งแรกในรอบ 4 วัน หลังผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น Kazuo Ueda และรองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น Shinichi Uchida ต่างออกมาปฏิเสธความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่น นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลังจากกลุ่มประเทศ G7 ยังแสดงการสนับสนุนญี่ปุ่นโดยอ้อมในการปกป้องค่าเงินเยน ซึ่งการสนับสนุนนี้ส่งผลให้ค่าเงินเยน (JPY) ฟื้นตัวขึ้น
ในอีกทางหนึ่ง ความคาดหวังเชิงบวกอย่างระมัดระวัง การอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐฯ สัญญาณเชิงบวกจากจีน รวมไปถึงแถลงการณ์เชิงสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวดจากธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) นั้นได้ช่วยหนุนให้คู่เงิน AUDUSD และคู่เงิน NZDUSD ดีดตัวสูงขึ้น น่าสังเกตว่า คู่เงิน AUDUSD จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากกว่าคู่เงิน NZDUSD ในช่วงนี้ สืบเนื่องมาจากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อรายเดือนของออสเตรเลียที่มีกำหนดการประกาศในปฏิทินเศรษฐกิจรายสัปดาห์
ขณะที่ คู่เงิน USDCAD ร่วงลงอย่างหนักเมื่อวันก่อน โดยเป็นการร่วงลงรายวันครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกของแคนาดาที่ถดถอยลงในวันศุกร์ และท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินที่ค่อนข้างผ่อนคลายของธนาคารกลางแคนาดา (BoC) เมื่อเทียบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงทำให้คู่เงิน Loonie ยังคงอยู่ในเรดาร์ของช่วงแนวโน้มขาขึ้น
สำหรับราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ท่ามกลางสภาวะการซื้อขายที่เบาบางในช่วงวันหยุด ขณะที่นักลงทุนต่างคาดหวังว่าจะได้เห็นความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากจีน เนื่องจากข่าวการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดและข้อมูลเศรษฐกิจที่มีทิศทางเชิงบวก ประกอบกับการตัดสินใจของกลุ่ม OPEC+ ที่จะเลื่อนการประชุมออกไป 1 วันเป็นวันที่ 2 มิถุนายน และเปลี่ยนรูปแบบการประชุมเป็นออนไลน์แทนการประชุมที่กรุงเวียนนา
ล่าสุด ราคาทองคำร่วงลงในรอบสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดของปี 2024 โดยมีสาเหตุหลักมาจากนักลงทุนได้ปรับลดการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้ง นอกจากนี้ บรรยากาศความวิตกกังวลในตลาดก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศเศรษฐกิจหลักๆก็ยังส่งผลกระทบต่อราคาทองคำด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ความหวังที่จะได้เห็นอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง ร่วมกับดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง และความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลขนาดใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังส่งผลให้ราคา XAUUSD ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น
แม้ว่าจำนวนเทรดเดอร์ชาวอังกฤษและอเมริกันที่ขาดหายไปในวันนี้จะจำกัดการเคลื่อนไหวของตลาด แต่การรายงานข้อมูลดัชนีราคา PCE พื้นฐานของสหรัฐฯประจำสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ Fed ให้ความสำคัญ จะยังคงเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับผู้ที่ติดตามทิศทางของตลาด นอกจากนี้ ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อจากออสเตรเลียและเยอรมนี รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CB) ของสหรัฐฯ และดัชนี PMI ของจีนประจำเดือนพฤษภาคม ก็เป็นข้อมูลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องติดตามเช่นกัน ด้วยการเปลี่ยนแปลงล่าสุดเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของ Fed ดอลลาร์สหรัฐฯอาจขยายการแข็งค่าขึ้นก่อนหน้านี้ในช่วงปลายสัปดาห์ และอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์และสกุลเงินกลุ่ม Antipodeans ด้วยเช่นกัน
ขอให้คุณโชคดีในการเทรด !