ตลาดการเงินทั่วโลกฟื้นตัวขึ้นหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศพักการเก็บภาษีสินค้านำเข้าเป็นเวลา 90 วัน สำหรับประเทศที่ไม่ได้มีมาตรการตอบโต้ ซึ่งช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนและจุดประกายแรงเทซื้อในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่างๆ ดัชนีหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นในวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 แม้ว่าจะยังมีการจัดเก็บภาษี 125% สำหรับสินค้าจากจีนอยู่ก็ตาม กระแสการพร้อมรับความเสี่ยงนี้ได้ช่วยหนุนสกุลเงินหลัก สินค้าโภคภัณฑ์ และคริปโทเคอร์เรนซีให้ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดัน ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว และถ้อยแถลงอย่างระมัดระวังจากธนาคารกลางสหรัฐฯในรายงานการประชุม FOMC
แม้ว่าข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของจีนจะปรับตัวลง และทางการปักกิ่งยังคงมีจุดยืนทางการค้าที่แข็งกร้าว ตลาดยังคงสามารถรักษาบรรยากาศเชิงบวกไว้ได้ในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี ความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติม หลังจากประเทศสมาชิกอาเซียนให้คำมั่นว่าจะไม่ตอบโต้การเก็บภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของสงครามการค้าที่ขยายวงกว้างลง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงระมัดระวังก่อนการเปิดเผยตัวเลขสำคัญอย่างดัชนี CPI ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ดอลลาร์สหรัฐฯยังคงอ่อนค่าลง ช่วยหนุนช่วงแนวโน้มขาขึ้นคู่เงิน EURUSD และคู่เงิน GBPUSD รวมถึงแรงเทขายของคู่เงิน USDJPY ด้านคู่เงิน AUDUSD คู่เงิน NZDUSD และคู่เงิน USDCAD พยายามรักษาระดับราคา ส่วนทางด้านราคาทองคำมีการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ ราคาน้ำมันและสกุลเงินดิจิทัลเริ่มชะลอการปรับตัวสูงขึ้น
การชะลอการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของทรัมป์ได้ช่วยหนุนความเชื่อมั่นนักเทรดยูโรในระยะสั้น แต่ช่วงแนวโน้มขาขึ้นคู่เงิน EURUSD ยังคงเผชิญแรงกดดัน เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายของยุโรปแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของสงครามการค้า และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังส่งสัญญาณสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ขณะที่ ความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยในกลุ่มยูโรโซนยิ่งฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะก่อนการประกาศตัวเลขดัชนี CPI ของสหรัฐฯในวันนี้
คู่เงิน GBPUSD พุ่งสูงขึ้นเป็นวันที่สามติดต่อกัน แม้มีการรายงานว่าข้อมูลแสดงความต้องการซื้อบ้านในสหราชอาณาจักรอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 19 เดือนก็ตาม ความหวังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีขึ้นระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหรัฐฯ รวมถึงแนวโน้มการปรับลดภาษีนำเข้าสำหรับอังกฤษได้ช่วยหนุนค่าเงินปอนด์ นอกจากนี้ แถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่จากธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ที่พยายามลดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยังเสริมแรงให้ GBP แข็งค่าขึ้นอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน คู่เงิน USDJPY เกิดการดึงกลับหลังจากดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนเมื่อวานนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของญี่ปุ่นที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งกระตุ้นความคาดหวังต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) อีกทั้ง ญี่ปุ่นยังแสดงท่าทีพร้อมเข้าสู่การเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อค่าเงินเยนอีกด้วย
คู่เงิน AUDUSD และคู่เงิน NZDUSD ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยหลังจากการพุ่งสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่งก่อนหน้า แต่ทั้งสองยังคงเผชิญแรงกดดันจากความกังวลที่เกี่ยวกับจีนและบรรยากาศการลงทุนที่เป็นบวกจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีของสหรัฐฯ แม้ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จะพยายามผลักดันข้อตกลงทางการค้ากับยุโรปและสหราชอาณาจักร แต่ท่าทีผ่อนคลายทางนโยบายการเงินจากธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ยังคงสร้างความไม่แน่นอนให้กับนักลงทุน
ขณะเดียวกัน คู่เงิน USDCAD ยังคงเคลื่อนไหวในระดับต่ำ หลังจากร่วงลงแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2023 โดยการดึงกลับของระดับราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของแคนาดา สร้างแรงกดดันต่อคู่เงิน Loonie เพิ่มขึ้น ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับแคนาดา นอกจากนี้ ความพร้อมของธนาคารกลางแคนาดา (BoC) ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และแนวโน้มเศรษฐกิจแคนาดาที่ซบเซา ยิ่งสร้างความท้าทายต่อแรงเทขายคู่เงิน USDCAD มากยิ่งขึ้น
ราคาทองคำได้ประโยชน์จากบรรยากาศการซื้อขายในตลาดที่เป็นบวกจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง และความกังวลในหลากหลายทิศทางเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่แข็งแกร่งจากจีน และสัญญาณเชิงเทคนิคที่เป็นช่วงขาขึ้น โดยส่งผลให้ราคาทองคำสามารถรักษาระดับการปรับตัวขึ้นจากแนวรับอายุ 4 เดือนในช่วงต้นสัปดาห์
ในขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังเผชิญความยากลำบากในการรักษาระดับการฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี สาเหตุหลักมาจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความต้องการในตลาดพลังงานภายใต้แรงกดดันจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ และข้อกังวลเกี่ยวกับกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ รวมถึงข้อมูลปริมาณน้ำมันคงคลังในสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้น และบรรยากาศของตลาดที่ระมัดระวังก่อนการประกาศข้อมูลดัชนี CPI ของสหรัฐฯในวันนี้
การยุติชั่วคราวของการดำเนินนโยบายภาษีของทรัมป์ รวมถึงการแต่งตั้ง พอล แอตกินส์ (Paul Atkins) เป็นประธาน ก.ล.ต. สหรัฐฯ (SEC) ช่วยหนุนการฟื้นตัวของ Bitcoin (BTCUSD) และ Ethereum (ETHUSD) อย่างไรก็ตาม ความระมัดระวังในอุตสาหกรรม ประกอบกับข้อมูล on-chain ที่อ่อนแอ และการไหลออกของเงินทุนจากกองทุน ETF ยังคงส่งผลกระทบต่อช่วงแนวโน้มขาขึ้นคริปโต นอกจากนี้ บรรยากาศที่ระมัดระวังก่อนการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ก็ยังเป็นปัจจัยจำกัดการฟื้นตัวของ Bitcoin และ Ethereum อีกด้วย
การผ่อนปรนมาตรการภาษีของทรัมป์ได้กลบกระแสรายงานการประชุม FOMC เมื่อวันพุธที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ขณะนี้นักลงทุนกำลังให้ความสนใจกับการประกาศตัวเลขดัชนี CPI ประจำเดือนมีนาคมของสหรัฐฯ เพื่อมองหาทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะที่ แถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางจากยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ จะเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นความเคลื่อนไหวของนักเทรดรายวันด้วยเช่นกัน
หากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯออกมาต่ำกว่าที่คาด ปัจจัยนี้อาจกดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่งเสริมบรรยากาศเชิงบวกในตลาด และช่วยหนุนความต้องการสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ซึ่งส่งผลดีต่อแรงเทซื้อ EUR GBP และ JPY ขณะที่ช่วงแนวโน้มขาขึ้นของ AUD NZD และ CAD อาจเผชิญแรงกดดันเนื่องจากเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเหล่าล้วนมีความเชื่อมโยงกับจีน ทางด้านหนึ่ง ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ช่วงแนวโน้มขาลงของน้ำมันดิบอาจกลับมาอีกครั้ง ส่วนสกุลเงินดิจิทัลและตลาดหุ้นคาดว่ามีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวในภาวะ consolidation หลังจากปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ขอให้คุณโชคดีในการเทรด!