บรรยากาศการซื้อขายที่ผันผวนกลับมาอีกครั้งหลังจากความเชื่อมั่นของตลาดปรับตัวดีขึ้นในวันก่อนหน้า เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ถดถอยลงจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกอบกับตลาดอยู่ในช่วงพักตัวก่อนการรายงานข้อมูลและเหตุการณ์สำคัญของสัปดาห์นี้จากยูโรโซนและสหรัฐอเมริกา
ด้วยเหตุนี้ ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น โดยพลิกกลับการร่วงลงในช่วงต้นสัปดาห์ แต่ยังคงขาดแรงขับเคลื่อนขาขึ้น ท่ามกลางการรายงานตัวเลขข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ไม่ค่อยน่าประทับใจนัก อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯยังคงได้รับแรงกดดัน ในขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย
อีกทางด้านหนึ่ง คู่เงิน EURUSD และคู่เงิน GBPUSD หยุดการขยับตัวขึ้นล่าสุด ในขณะที่ คู่เงิน USDJPY กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งโดยมุ่งหน้าสู่จุดสูงสุดในรอบ 34 ปี หลังจากพลิกกลับจากจุดเดียวกันในวันก่อนหน้า
ในขณะเดียวกัน คู่เงิน AUDUSD และคู่เงิน NZDUSD ปรับตัวลดลง ในขณะที่ คู่เงิน USDCAD ดีดตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์
เมื่อพูดถึงสกุลเงินดิจิทัล ETHUSD ยังคงถูกกดดันเป็นวันที่สองติดต่อกัน หลังมีข่าวว่าสำนักงาน ก.ล.ต. สหรัฐฯ (SEC) กำลังตรวจสอบสถานะความปลอดภัยของอีเธอเรียมตั้งแต่เดือนมีนาคม 2023 นอกจากนี้ BTCUSD พลิกกลับการฟื้นตัวในช่วงต้นสัปดาห์จากระดับต่ำสุดในรอบสองสัปดาห์ ถึงแม้จะมีการเปิดตัวกองทุน ETF สำหรับ BTC และ ETH ในฮ่องกงก็ตาม
มาติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของสินทรัพย์เหล่านี้:
ดอลลาร์สหรัฐฯเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการปรับลดลงท่ามกลางการรายงานข้อมูลกิจกรรมเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงและความคาดหวังอย่างระมัดระวังก่อนการรายงานข้อมูลสำคัญที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างแรงกดดันด้านลบต่อดอลลาร์สหรัฐฯก็คือ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปรับลดลง ท่ามกลางความกลัวว่าจะพบกับความผิดหวังจากการรายงานการประชุม FOMC และข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความคาดหวังที่สูงเกินไปต่อข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว อีกทั้ง เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ดัชนีธุรกิจภาคการผลิตของธนาคารกลางสหรัฐฯประจำดัลลัสร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสามเดือนที่ -14.5 เมื่อเทียบกับการรายงานก่อนหน้าที่ -14.4.
นอกเหนือไปจากปัจจัยที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่ผ่อนคลายลงยังส่งผลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบกับฤดูกาลรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯที่มีทิศทางที่ดีขึ้นส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำไม่ได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลก ในขณะเดียวกัน ความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์พลังงานเริ่มคลี่คลาย เมื่อประกอบกับความต้องการน้ำมันดิบจากเอเชียที่น่าจะปรับตัวลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง นอกจากนี้ ข่าวสารที่ระบุว่าสหรัฐฯอาจผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรธนาคารรัสเซียบางส่วนเพื่อการค้าขายน้ำมันดิบ ยังส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจจำนวนหนึ่งซึ่งไม่สามารถหนุนการขยายการถอยกลับของวันก่อนหน้าจากระดับสูงสุดในรอบ 34 ปี ท่ามกลางการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาในหลากหลายทิศทาง ขณะที่มีการรายงานว่า ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นปรับลดลง อัตราการว่างงานยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และ การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายเดือน (MoM) แต่กลับลดลงเมื่อเทียบเป็นรายปี (YoY) ในเดือนมีนาคม ที่น่าสนใจ คือ Masato Kanda หัวหน้าฝ่ายนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของญี่ปุ่น กล่าวว่ามีความจำเป็นต้องมีการดำเนินการที่เหมาะสมเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน (FX) แต่ยังไม่สามารถหยุดยั้งการอ่อนค่าของเงินเยนได้ นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่าทางการญี่ปุ่นยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ต่อระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น โดยเสริมว่า "การอ่อนค่าของเงินเยนสะท้อนถึงความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยและปัจจัยอื่นๆ"
นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังมุ่งหน้าสู่การ "ลงจอดอย่างนุ่มนวล" (soft landing) โดยอิงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลง จาก 5.2% สำหรับปี 2023, 4.6% สำหรับปี 2024 และ 4.1% สำหรับปี 2025 นอกเหนือไปจากความคิดเห็นของ IMF แล้ว ข้อมูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายจากกรุงปักกิ่งยังมีส่วนทำให้ความคึกคักในช่วงต้นสัปดาห์เปลี่ยนไป และส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง เมื่อพูดถึงข้อมูลเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดภาคการผลิตอย่างเป็นทางการของจีนอย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) สำหรับเดือนเมษายนปรับลดลงเหลือ 50.4 จาก 50.8 เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ที่ 50.3 ในขณะที่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก Caixin เพิ่มขึ้นเป็น 51.4 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ของตลาดที่ 51.0 และการรายงานก่อนหน้าที่ 51.1 อีกทั้ง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Non-Manufacturing PMI) จากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) สำหรับเดือนเมษายนยังปรับตัวลงจาก 53.0 แตะที่ระดับ 51.2 และต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่มีตัวเลขอยู่ที่ 52.2
ในอีกทางหนึ่ง ดัชนี PMI ของจีนที่ตกต่ำร่วมกับการเติบโตที่น่าผิดหวังของยอดค้าปลีกของออสเตรเลียในเดือนมีนาคม จาก 0.2% เป็น -0.4% MoM ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาคู่เงิน AUDUSD ยังส่งผลให้ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) ร่วงลงที่สุดในบรรดาสกุลเงิน G10 ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของ ANZ ของนิวซีแลนด์ในเดือนเมษายนปรับลดลงเหลือ 14.9% จาก 22.9% และแนวโน้มกิจกรรมก็อ่อนตัวลงเป็น 14.3% จาก 22.5% ซึ่งในทางกลับกันเมื่อประกอบกับปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังจากจีนและออสเตรเลียก็ส่งผลกระทบต่อคู่เงิน NZDUSD ด้วยเช่นกัน
อีกทางด้านหนึ่ง ดัชนีราคาสินค้าในร้านค้าสหราชอาณาจักร (BRC Shop Price Index) รายงานโดยสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งอังกฤษ (BRC) ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตที่ช้าลงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021 โดยรายงานการเพิ่มสูงขึ้น 0.8% YoY ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบกับการรายงานก่อนหน้าที่ 1.3% น่าสังเกตว่า ราคาสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าอาหาร (Non-food goods) ปรับตัวลดลง -0.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021 โดยปัจจัยนี้ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯส่งผลให้คู่เงิน GBPUSD ร่วงลงจากจุดสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์
ทั้งนี้ คู่เงิน EURUSD ปรับตัวลดลงจากการพุ่งสูงขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์หลังจากดอลลาร์สหรัฐฯฟื้นตัวขึ้นประกอบกับความกังวลก่อนที่จะมีการเผยแพร่ตัวเลขเบื้องต้นของ GDP ประจำไตรมาส 1 ของยูโรโซน และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนเมษายนที่จะประกาศในวันนี้ นอกจากนี้ ปัจจัยที่สร้างแรงกดดันด้านลบต่อค่าเงินยูโรอาจมาจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีที่ปรับลดลงในวันก่อนหน้าและแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รองประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) Luis de Guindos ได้ออกมากล่าวว่า พวกเขากำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ ในทำนองเดียวกัน Klaas Knot ผู้กำหนดนโยบายของ ECB และผู้ว่าการธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่าเขามีความมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง โดยเสริมว่า "การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนเป็นไปได้"
ข้อมูลเศรษฐกิจจากเยอรมนีและยูโรโซนจะกระตุ้นโมเมนตัมของเทรดเดอร์หลังจากเริ่มต้นสัปดาห์อย่างซบเซา สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกา
ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตามคือ การรายงานตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 1 ปี 2024 ของทั้งเยอรมนีและสหภาพยุโรป (EU) รวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนเมษายนของยูโรโซน ซึ่งส่งผลให้คู่เงิน EURUSD เป็นคู่เงินที่น่าจับตามองประจำวัน เนื่องจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการ "ลงจอดอย่างนุ่มนวล" (soft landing) ของเศรษฐกิจยูโรโซน ประกอบกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงิน คาดว่าคู่เงินยูโรมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอีก เว้นแต่ว่าข้อมูลที่มีกำหนดการเผยแพร่จะมีเซอร์ไพรส์ในแง่บวก ซึ่งคาดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย
ในอีกด้านหนึ่ง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของชิคาโก (Chicago Purchasing Managers’ Index) ประจำเดือนเมษายน, ดัชนีราคาบ้าน (Housing Price Index) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ และดัชนีราคาบ้าน S&P/Case-Shiller ประจำเดือนกุมภาพันธ์ จะมีผลต่อสภาพคล่องของตลาด แต่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เหล่านี้น่าจะไม่ได้รับความสนใจมากนัก เนื่องจากตลาดกำลังรอคอยการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในวันพุธนี้
ขอให้คุณโชคดีในการเทรด !