ความเชื่อมั่นของตลาดยังคงแข็งแกร่งขึ้นในช่วงต้นวันศุกร์ ท่ามกลางความคาดหวังที่จะได้เห็นความท้าทายที่มากขึ้นต่อนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากข้อมูลตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯล่าสุดปรับลดลง นอกจากนี้ ปัจจัยที่ช่วยหนุนสินทรัพย์เสี่ยง (risk assets) ให้โดดเด่นยังรวมไปถึงข่าวเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากจีน และข้อมูลตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีจากสหรัฐฯ ยูโรโซน และสหราชอาณาจักร
ท่ามกลางปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อตลาด ดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบสัปดาห์ ก่อนที่จะชะลอตัวจากการร่วงลงก่อนการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์นี้ ถึงกระนั้น ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ยังมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 สัปดาห์ โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากที่เคยปรับลดลงไปก่อนหน้านี้ ส่วนตลาดหุ้นมีการปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ คู่เงิน EURUSD ปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่ คู่เงิน GBPUSD ยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรที่สดใส
ส่วนทางด้าน คู่เงิน USDJPY พลิกกลับการถอยกลับของวันพฤหัสบดีจากระดับสูงสุดในรอบสัปดาห์ ในขณะที่ คู่เงิน USDCAD ยุติการร่วงลงติดต่อกันสองวันโดยจับตาดูการรายงานการจ้างงานประจำเดือนของแคนาดา
อีกทางด้านหนึ่ง คู่เงิน AUDUSD มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 สัปดาห์ ขณะที่ คู่เงิน NZDUSD ยังคงมีแนวโน้มขาขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 แม้ว่าจะมีการปรับลดลงในวันนี้
ทางฝั่งของราคาทองคำมีแนวโน้มปิดสัปดาห์ด้วยการปรับตัวขึ้นสูงสุดหลังจากที่ราคาร่วงลดลงติดต่อกัน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจากการยืนยันรูปแบบการกลับตัวของกราฟขาขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มปิดสัปดาห์ด้วยการปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องจากระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน
ในอีกทางหนึ่ง BTCUSD และ ETHUSD ยังคงอยู่ในช่วงขาลงในสัปดาห์นี้ แม้จะมีการฟื้นตัวขึ้นเมื่อวันก่อนหน้า โดยความซบเซาของตลาดสกุลเงินดิจิทัลอาจเป็นผลมาจากท่าทีเข้มงวดของสำนักงาน ก.ล.ต ของสหรัฐฯ (SEC) และการที่นักลงทุนในตลาดทำการพักฐานเพื่อรักษาผลกำไรจากในช่วงต้นปี 2024
มาติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของสินทรัพย์เหล่านี้:
เมื่อวันพฤหัสบดี ตัวเลขเบื้องต้นของจำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานและจำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องของสหรัฐฯที่ปรับตัวสูงขึ้นได้เข้ามาแทนที่การคาดการณ์ของตลาดว่า Fed มีท่าทีที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดโดยสร้างแรงกดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯปรับลดลง นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐฯยังอ่อนค่าลงไปควบคู่กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ส่งผลให้การเทรดสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และสกุลเงิน Antipodeans มีโอกาสพุ่งสูงขึ้นในรอบสัปดาห์
ในขณะเดียวกัน ความกังวลครั้งใหม่เกี่ยวกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน และความคิดเห็นของ Janet Yellen รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ดูเหมือนจะช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนที่จะมีการเปิดเผยตัวเลขเบื้องต้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UoM) และตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคในอีก 5 ปีข้างหน้า
สำนักข่าว Bloomberg มีการรายงานว่า ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ Joe Biden มีแผนที่จะประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน หลังจากการทบทวนในสัปดาห์หน้า โดยรายงานยังระบุด้วยว่า สินค้าประเภทแบตเตอรี่และอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ที่ผลิตในจีนก็มีแนวโน้มที่จะถูกเรียกเก็บภาษีเช่นกัน
ในทางกลับกัน Yellen รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯลดลงอย่างมาก แต่ยังไม่ถึงจุดที่ต้องการ ซึ่งสิ่งนี้อาจทำให้โอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้มีน้อยลง
อีกทั้งยังเป็นที่น่าสังเกตว่า Mary Daly ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯประจำซานฟรานซิสโกได้ออกมากล่าวว่าเธอยังคงมองเห็นตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับที่สูงเกินไป ในขณะเดียวกันก็กล่าวเสริมว่า “นโยบายของ Fed นั้นมีข้อจำกัด แต่ก็ยังอาจจะต้องใช้เวลาในการทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง”
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯประกอบกับแถลงการณ์ของ Luis de Guindos รองประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังส่งผลให้คู่เงิน EURUSD สามารถยุติการร่วงลงติดต่อกัน 2 วัน และพุ่งสูงขึ้นรายวันมากที่สุดในรอบ 1 สัปดาห์ โดย Luis de Guindos ระบุว่า "ECB ไม่ได้กำหนดแนวทางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังเดือนมิถุนายนล่วงหน้า" เขายังกล่าวอีกว่า ตัวเลขการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ รวมไปถึงอัตราค่าจ้างและการปรับเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นในตลาดการเงิน
อีกทางด้านหนึ่ง คู่เงิน GBPUSD ผันผวนตลอดทั้งวันก่อนที่จะปิดตลาดด้วยการพุ่งขึ้นสูงสุด แม้ว่าสัญญาณจากธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะไม่ชัดเจนก็ตาม โดย BoE หรือ "Old Lady" ยังคงไม่ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ขณะที่เลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจและแถลงการณ์ของ Huw Pill หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่บ่งชี้ว่าธนาคารกลางอังกฤษอาจลดอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าได้สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิง (GBP) ทำให้ความคาดหวังเชิงบวกต่อเงินปอนด์นั้นลดน้อยลง
นอกจากนี้ ตัวเลขประมาณการเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหราชอาณาจักรประจำไตรมาส 1 ปี 2024 ซึ่งเปิดเผยในวันศุกร์ที่ผ่านมาชี้ว่า เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรฟื้นตัวจากภาวะถดถอย โดยขยายตัว 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ซึ่งหดตัว -0.3% ด้วยเหตุนี้ คู่เงินเคเบิลยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากวันก่อนหน้า โดยไม่ตอบสนองต่อข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการผลิตภาคการผลิตที่ปรับลดลง
ในอีกทางหนึ่ง คู่เงิน USDJPY สวนทางกับแนวโน้มในตลาด โดยยุติแนวโน้มขาขึ้น 3 วัน สาเหตุอาจสืบเนื่องมาจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปรับลดลง รวมไปถึงการแทรกแซงทางวาจาของทางการญี่ปุ่น ทั้งนี้ ข้อมูลการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในญี่ปุ่นที่ลดต่ำลง ควบคู่กับการฟื้นตัวของดอลลาร์สหรัฐฯ และความกังวลเกี่ยวกับโอกาสที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมยังส่งผลให้เกิดแนวโน้มขาขึ้นของคู่เงินเยนในเช้าวันศุกร์อีกครั้ง
คู่เงิน NZDUSD และคู่เงิน AUDUSD ร่วงลงมากที่สุดในบรรดาคู่สกุลเงิน G10 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาและการฟื้นตัวของดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนข้อมูลสำคัญที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ ส่งผลให้คู่เงิน NZDUSD เพิกเฉยต่อข้อมูลดัชนีชี้วัดภาวะการผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศนิวซีแลนด์ (Business NZ PMI) ประจำเดือนเมษายนที่ปรับตัวดีขึ้น จาก 46.8 เป็น 48.9 นอกจากนี้ คู่เงิน USDCAD ยังร่วงลงสองวันติดต่อกันก่อนที่จะฟื้นตัวเล็กน้อยในภายหลัง ทั้งนี้ คู่เงิน USDCAD ได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของแคนาดาที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยไม่ตอบสนองต่อความคิดเห็นที่สนับสนุนนโยบายการเงินผ่อนคลายของผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดา (BoC) Tiff Macklem เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา Macklem ยังกล่าวอีกว่า "อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะยังคงจำกัดการใช้จ่ายของครัวเรือนต่อไป"
ราคาน้ำมันดิบและราคาทองคำ ล้วนปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากวันก่อนหน้า แม้ว่าดอลลาร์สหรัฐฯจะฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง สาเหตุอาจมาจากความเชื่อมั่นที่กลับคืนมาของตลาดที่ได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตลาดแรงงานสหรัฐฯประกอบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวลง โดยราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน เป็นผลมาจากดอลลาร์สหรัฐฯที่ร่วงลงสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ประกอบกับการนำเข้าพลังงานจากจีนจำนวนมาก ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และปริมาณสำรองน้ำมันดิบในสหรัฐฯที่ลดลง นอกจากนี้ ราคาทองคำยังยืนยันรูปแบบการกลับตัวของกราฟขาขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มราคาทองคำที่อาจจะทยอยปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่
หลังจากช่วงวันอันเงียบเหงาและปฏิทินเศรษฐกิจที่บางเบา เทรดเดอร์สายโมเมนตัมน่าจะได้เจอกับวันที่มีการเคลื่อนไหวที่คึกคัก ซึ่งเริ่มต้นขึ้นแล้วกับการรายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ปี 2024 ของสหราชอาณาจักร สิ่งสำคัญที่ต้องติดตามเพิ่มเติม ได้แก่ การรายงานตัวเลขเบื้องต้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UoM) และตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคจากสหรัฐฯ รายงานการจ้างงานประจำเดือนของแคนาดา และแถลงการณ์จากผู้ว่าการธนาคารกลางหลายคนจากยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ นอกจากนี้ ควรจับตาดูตัวเลขเงินเฟ้อของจีนในช่วงปลายวันศุกร์ และสัญญาณเงินเฟ้อของสหรัฐฯในสัปดาห์หน้าด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรพิจารณาขณะเทรด
เหนือสิ่งอื่นใด เทรดเดอร์กำลังมองหาสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อจะอ่อนตัวลง, ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง และเศรษฐกิจสามารถปรับตัวลงอย่างนุ่มนวล (soft-landing) เพื่อสนับสนุนสกุลเงินต่างๆหากปัจจัยเหล่านี้ไม่ปรากฏ อาจส่งผลให้แรงเทซื้อไหลกลับไปที่ดอลลาร์สหรัฐฯอีกครั้ง